วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แก๊สไข่เน่า...แก๊สอันตรายที่คร่าชีวิตคุณได้


เราอาจจะเคยได้ยินชื่อแก๊สไข่เน่า มานานแล้ว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าแก๊สไข่เน่าสามารถปลิดชีวิตคนได้ จากรายละเอียดตามตารางข้างล่างนี้  
ผลกระทบทางสรีระวิทยาของก๊าซไข่เน่า
ความเข้มข้นก๊าซไข่เน่าในอากาศ (ส่วนในล้านส่วน : ppm)ผลกระทบ
30
กลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า
100
ประสาทรับรู้กลิ่นเสื่อมสภาพใน 2-15 นาที
200
ไอและตาแดง
300
ประสาทรับรู้กลิ่นเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
600
สิ้นสติภายใน 30นาที
800
สิ้นสติอย่างรวดเร็ว
1,000
สิ้นสติทันที
2,000
เสียชีวิตในไม่กี่นาที



Hydrogen sulfide 
ชื่อ แก๊สไข่เน่า (Hydrogen sulfide)
ชื่ออื่น Sewer gas, Sour gas, Pit gas, Hydrosulfuric acid, Sulfuretted hydrogen, Sulfur hydride
สูตรโมเลกุล H2S
น้ำหนักโมเลกุล 34.1
CAS Number 7783 – 06 – 4
UN Number 1053
ลักษณะทางกายภาพ  
แก๊สไม่มีสี มีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า หนักกว่าอากาศ 
คำอธิบาย 
แก๊สไข่เน่าเป็นแก๊สที่มีกลิ่นเหม็น เกิดจากการย่อยสลายของซากของเสียและสิ่งมีชีวิต แก๊สชนิดนี้เป็นแก๊สสำลัก (asphyxiant) ที่มีพิษรุนแรง ทำให้เกิดการตายได้บ่อย โดยเฉพาะในกรณีการลงสู่หลุมบ่อที่มีลักษณะอับอากาศ เช่น ใต้ท้องเรือประมงที่มีซากปลาเน่าหมักหมม บ่อเก็บมูลสัตว์ทำปุ๋ยคอก เป็นต้น 
ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน  
ACGIH TLV – TWA 10 ppm, STEL 15 ppm  
NIOSH REL – C 10 ppm (15 mg/m3) 
OSHA PEL – C 20 ppm, Maximum peak 50 ppm in 10 minutes |||||
IDLH 100 ppm
กฎหมายแรงงานไทย C 20 ppm, Maximum peak 50 ppm in 10 minutes 
ค่ามาตรฐานในสิ่งแวดล้อม NAAQS – N/A ||||| กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย – ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่มที่ 123 ตอนที่ 50ง (พ.ศ. 2549) มาตรฐานอากาศเสียที่ระบายออกจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ต้องไม่เกิน 100 ppm ในกระบวนการผลิตที่ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง และไม่เกิน 80 ppm ในกระบวนการผลิตที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง 
ค่ามาตรฐานในร่างกาย ACGIH BEI - N/A
คุณสมบัติก่อมะเร็ง IARC N/A ||||| ACGIH N/A 
แหล่งที่พบในธรรมชาติ แก๊สไข่เน่าพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ แก๊สนี้เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ที่มีธาตุกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น มูลสัตว์ ขยะของเสีย ซากสิ่งมีชีวิต ในทะเลลึกมีแก๊สชนิดนี้ผสมอยู่ด้วยเนื่องจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ในการเกิดภูเขาไฟระเบิดก็จะมีการปล่อยแก๊สชนิดนี้ออกมาด้วย (Volcanic gas) 
สถานประกอบการที่มีโอกาสพบแก๊สชนิดนี้
  • ในบ่อปุ๋ยหมัก ที่ทำจากมูลสัตว์ เช่น มูลโค มูลสุกร ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
  • ในบ่อบำบัดน้ำเสีย งานลอกท่อระบายน้ำ งานบำบัดน้ำเสีย
  • ใต้ท้องเรือประมง ซึ่งมีช่องเก็บปลาอยู่ ภายในมีซากปลาเน่าหมักหมม
  • ในโรงสีข้าวหรือโรงเก็บข้าวโพดบางแห่ง ยุ้งฉางจะมีกลไกการขนข้าวเข้าภายในด้วยสายพาน ซึ่งใต้เครื่องจักรชนิดนี้จะมีช่องขนาดเล็กที่มีเศษข้าวหรือข้าวโพดตกลงไปหมักหมมอยู่ได้
  • งานขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารนี้จากแหล่งฟอสซิลในทะเล รวมถึงงานกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติด้วย
  • เหมืองถ่านหินที่อยู่ใต้ดิน
  • ใช้เป็นสารน้ำอย่างหนึ่งในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ [1]
  • ในบ่อน้ำร้อนบางแหล่งที่มีกำมะถันสูง [2]
  • เป็นผลที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต (By product) ของ โรงฟอกหนัง โรงทำเยื่อกระดาษ ไอร้อนของยางมะตอย (asphalt fume) และโรงงานผลิตคาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide ) [2]

กลไกการก่อโรค เข้าจับและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cytochrome oxidase ใน mitochondria ทำให้ เซลล์ไม่สามารถหายใจได้ (cellular asphyxiant) กลไกนี้เป็นกลไกเดียวกับพิษของไซยาไนด์ (cyanide) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุโดยตรง เช่น ตา จมูก หลอดลม ปอด ทำให้ปอดบวมน้ำด้วย 

การเตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • สถานที่เกิดเหตุการณ์ได้รับสารพิษชนิดนี้ที่พบบ่อยที่สุดคือประสบเหตุอยู่ในที่อับอากาศ ผู้ที่เข้าไปกู้ภัยจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่อับอากาศ (Confined space) อย่างดีเพียงพอแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าไปทำการกู้ภัย ได้ การลงสู่ที่อับอากาศจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดที่มีถังบรรจุอากาศในตัว (Self-contained breathing apparatus, SCBA) เท่านั้น และต้องมีทีมงานคอยช่วยเหลืออยู่ด้านบนด้วย
  • แก๊สชนิดนี้หนักกว่าอากาศ มีกลิ่นฉุนเหม็นจัด ระดับรับสัมผัสกลิ่นอยู่ที่เพียง 0.025 ppm เท่านั้น แก๊สติดไฟได้ง่าย และเกิดการระเบิดได้ (NFPA Code: H4 F4 R0) ทีมกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือไม่ควรก่อประกายไฟในบริเวณที่เกิดเหตุเด็ดขาด [3]
อาการทางคลินิก
  • อาการเฉียบพลัน ประกอบด้วยอาการจากฤทธิ์ระคายเคืองกับอาการจากฤทธิ์ยับยั้งการหายใจของเซลล์ ||||| อาการระคายเคืองจะทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น (Olfactory nerve paralysis) เกิดได้ที่ความเข้มข้น 100 – 150 ppm ซึ่งทำให้สูญเสียความสามารถในการระมัดระวังตัวไป อาการเคืองตา จมูก คอ หลอดลม แสบหน้าอก หายใจเร็ว หายใจสั้น เกิดขึ้นได้บ่อย อาจพบมีหนังตากระตุก หรือผิวหนังแสบร้อนเกิดขึ้นได้ อาการระคายเคืองปอดจะทำให้ปอดบวมน้ำ (noncardiogenic pulmonary edema) เกิดการอักเสบของเนื้อปอด (chemical pneumonitis) อาการเกิดขึ้นได้ภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหลังการสัมผัส ||||| ส่วนอาการจากฤทธิ์ยับยั้งการหายใจจะเกิดได้เร็วกว่า เนื่องจากแก๊สที่สูดดมเข้าไปสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีมาก ที่ความเข้มข้น 600 – 800 ppm มักจะทำให้ผู้ที่สูดดมแก๊สหมดสติและเสียชีวิตไปในทันทีทันใด (knockdown) อาการนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากสำหรับการประสบเหตุจากแก๊สชนิดนี้ กรณีอาการรุนแรงน้อยกว่าจะพบ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน คลุ้มคลั่ง ชัก และโคม่าได้
  • อาการระยะยาว การสัมผัสปริมาณน้อยๆ ในระยะยาว จะทำให้เกิดระคายเคืองตา กระจกตาเป็นแผล มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เมื่อได้รับกลิ่นไปนานๆ จมูกจะปรับตัวทำให้ไม่ได้กลิ่นแก๊สนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถระมัดระวังตัวได้เมื่อแก๊สนี้มีปริมาณสูงผิดปกติและมีกลิ่นฉุนแรงขึ้น [4] กรณีผู้รอดชีวิตจากการสูดดมแก๊สในปริมาณมาก อาจมีอาการอารมณ์แปรปรวน บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง การคิดคำนวณของสมองทำได้ไม่ดี และจมูกไม่ได้กลิ่น
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจวินิจฉัยพิษจากแก๊สไข่เน่าให้ใช้ประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก แก๊สชนิดนี้ไม่มีตัวบ่งชี้การสัมผัส (No biomarker) การตรวจระดับ sulfhemoglobin ไม่ได้ช่วยในการยืนยันการสัมผัส [2]
  • ประวัติและอาการที่สนับสนุนคือ ประวัติหมดสติล้มลงไปในทันทีที่ได้รับแก๊สพิษ เพื่อนร่วมงานหรือหน่วยกู้ภัยได้กลิ่นเหม็นฉุนในบริเวณเกิดเหตุ เหรียญเงินหรือวัตถุที่เป็นเงินในตัวผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื่องจากทำปฏิกิริยากับแก๊สไข่เน่าเปลี่ยนเป็น Silver sulfide
  • การตรวจอื่นๆ ที่ช่วยในการรักษาคือ การตรวจภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) ระดับแก๊สในเลือด (blood gas) การตรวจติดตามระดับออกซิเจน (pulse oxymetry) ระดับเกลือแร่ในเลือด (electrolyte) และระดับน้ำตาลในเลือด (blood sugar) ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
การดูแลรักษา
  • ปฐมพยาบาล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด กรณีผู้ป่วยติดอยู่ในที่อับอากาศผู้ที่เข้าไปช่วยต้องใส่ Self-contained breathing apparatus ลงไปเท่านั้น เมื่อนำผู้ป่วยขึ้นมาให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ถอดเสื้อผ้าที่คับแน่นออก เปิดทางเดินหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจถ้าไม่หายใจ ให้ออกซิเจนเสริม ถ้าหัวใจหยุดเต้นแล้วให้รีบทำการนวดหัวใจช่วยชีวิต (cardiopulmonary resuscitation, CPR) มีรายงานว่าถ้าหัวใจพึ่งหยุดเต้นไปไม่นาน ถ้านวดหัวใจช่วยขึ้นมาได้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับฟื้นคืนสติ [5]
  • การรักษา ระยะวิกฤตให้ดูสัญญาณชีพ ช่วยการหายใจ สังเกตระบบไหลเวียนโลหิต ถ้ามีอาการชัก ความดันโลหิตต่ำ หรือไม่รู้สึกตัว ให้ทำการรักษา ||||| เมื่อพ้นระยะวิกฤตแล้วให้สังเกตอาการปอดบวมน้ำ และเนื้อปอดอักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 2 – 3 ชั่วโมงต่อมา ||||| ยาต้านพิษนั้น โดยทฤษฎีแล้ว nitrite สามารถลดพิษได้เช่นเดียวกับกรณีของ cyanide คือสร้าง methemoglobin จาก hemoglobin จากนั้น methemoglobin ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้เปลี่ยน sulfide ions เป็น sulfhemoglobin ได้ อย่างไรก็ตามการ sulfhemoglobin ที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้การขนส่งออกซิเจนแย่ลง การให้ยาต้านชนิดนี้ในผู้ป่วยได้รับพิษแก๊สไข่เน่ายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ถ้าจะให้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การให้ยากรณีหายใจได้เองให้ amyl nitrite 1 – 2 ampules via ambulatory bag ทุก 3 นาที สูงสุดได้ 6 ampules ถ้าผู้ป่วยหมดสติหรือเปิดเส้นได้แล้วเปลี่ยนเป็นให้ 3 % sodium nitrite 10 ml (300 mg) IV ฉีดนาน 3 – 5 นาที ให้ยาชนิดนี้แล้วต้องระวังความดันโลหิตต่ำด้วย [2, 4] ||||| มีรายงานว่าการให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูงในห้องปรับความดันอากาศ (hyperbaric oxygen, HBO) อาจช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามไม่มีผลการศึกษายืนยันที่ชัดเจนในเรื่องนี้ [2]
การป้องกัน  
เนื่องจากพิษของแก๊สไข่เน่ามีความรุนแรงสูงมาก กรณีที่อยู่ในที่อับอากาศอาการมักเกิดขึ้นทันที และทำให้เสียชีวิตทันที การป้องกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในการลดการตายจากแก๊สชนิดนี้ การให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในที่อับอากาศ การตรวจสุขภาพก่อนปฏิบัติงานเป็นสิ่งจำเป็น ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงควรติดตั้งเครื่องตรวจวัดแก๊สชนิดนี้ และติดตั้งสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีการรั่วไหล [1]

เอกสารอ้างอิง
  1. Beckett WS. Chemical Asphyxiants. In: Rom WN, Markovitz SB, eds. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins 2007:566 - 7.
  1. Olson KR, Anderson IB, Benowitz NL, Blanc PD, Clark RF, Kearney TE, et al. Poisoning & drug overdose. the California Poison Control System. 5th ed. New York: McGraw-Hill 2004.
  1. International Programme on Chemical Safety. International Chemical Safety Cards (ICSCs). Geneva: International Labour Office 1998.
  1. Farrow C, Wheeler H, Bates N, Murray V. The chemical incident management handbook. London: The Stationery Office 2000.
  1. Wilkenfeld M. Simple Asphyxiants. In: Rom WN, Markovitz SB, eds. Environmental and occupational medicine. 4th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins 2007:559 - 60

Reference:
http://www.summacheeva.org/index_thaitox_hydrogen_sulfide.htm
http://www.summacheeva.org/index_thaitox_hydrogen_sulfide.htm
https://i.cbc.ca/1.3042878.1429658513!/fileImage/httpImage/image.jpg_gen/derivatives/16x9_1180/sour-gas-well-site-in-southeast-sask.jpg


WWW.FACEBOOK.COM/CLNCLEAN

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น